วันพุธที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

การศึกษาปฐมวัยไม่ใช่เรื่องเด็กเด็ก

การศึกษาปฐมวัยไม่ใช่เรื่องเด็กเด็ก
             คนส่วนมากโดยเฉพาะนักวิชาการในเมืองไทยที่มีความเก่งกล้าสามารถมักจะเห็นความสำคัญของเด็กปฐมวัย (อายุแรกเกิดถึงหกปี) เป็นเรื่องไม่สำคัญ จัดการศึกษาให้ง่ายง่าย กิน นอน เล่น จบไปเป็นวันวัน ปัจจุบันเราจึงมีเด็กและอาชญากรเพิ่มขึ้น เด็กและผู้ใหญ่บางคนอ่อนแอ มีความอดทนต่อสิ่งยั่วยุน้อย อดกลั้นต่อสภาวะแวดล้อมไม่ค่อยได้ มักยึดตนเองเป็นศูนย์กลาง ไม่ยอมเสียผลประโยชน์แม้แต่น้อย ดังจะเห็นจากข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์หรือสื่อต่าง ๆ ทำให้ความเข้มแข็งของสังคมลดลง     เกิดความแย่งชิงแข่งขันและเอาเปรียบกันโดยไม่คำนึงถึงคุณธรรมและอุดมการณ์ของวิชาชีพในสายงานของตน
ทำอย่างไรจะช่วยกันสร้างให้เด็กมีสภาวะจิตเข้มแข็ง
            "เรา" หมายถึงตัวผู้เขียนเองและผู้มีจิตวิญญาณของความเป็นครูที่มึจิตมุ่งมั่นพัฒนาลูกศิษย์ ให้มีทั้งพุทธิพิสัย จิตพิสัย และทักษะพิสัย ไม่เน้นประเด็นใดประเด็นหนึ่งเป็นสำคัญโดยสอดแทรกคุณธรรมความเป็นคน และจรรยาบรรณความเป็นครูให้ซึมลึกเข้าไปทุกอณูของผู้ที่จะก้าวเป็นครูสายพันธุ์ใหม่ที่จะมุ่งช่วยพัฒนาชาติให้รอดพ้นวิกฤติทั้งหลาย ทำให้เด็กไทยได้ฉลาดถูกเรื่องถูกราว เข้มแข็งเมื่อถึงคราวที่จะต้องเผชิญกับภาวะยากลำบากในชีวิต และต่อสู้ด้วยพลังแห่งปัญญา (มิใช่กำลังภายในเพื่อตอบสนองความอยากแห่งจิตใต้สำนึกของตน) การใช้ปัญญาของเด็กตั้งแต่ระดับปฐมวัยเป็นเรื่องสำคัญกว่าการใช้กำลัง เช่น การบอกเพื่อนด้วยเหตุผลโดยอธิบายความต้องการของตนเพื่อให้เพื่อนเข้าใจ บางครั้งการแพ้บ้าง ชนะบ้างก็จะช่วยให้เด็กฝึกจิตของตนให้เข้มแข็งพอที่จะยืนอยู่บนโลกที่โหดร้ายนี้ได้แม้ที่ว่างจะน้อยนิด
               การฝึกจิตในเด็กเป็นเรื่องยากนัก แม้ว่าเด็กเล็กจะง่ายต่อการกล่อมเกลาจิตใจให้อ่อนโยนแต่จะทำอย่างไรให้ไม่อ่อนแอหรืออ่อนไหวง่าย ครูปฐมวัยจึงต้องจัดประสบการณ์อย่างหลากหลายให้เด็กที่ตนรับผิดชอบได้ฝึกจิตของตนอย่างสม่ำเสมอ อาจจะเริ่มจากการมองความต้องการของตนก่อน ตั้งสติให้มั่นตอบสนองความต้องการของตนโดยไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนรวมทั้งตัวเด็กเองด้วย แล้วจึงจัดกิจกรรมส่งเสริมเด็กให้เรียนรู้ "การให้" เพราะการให้เป็นธรรมะที่สูงสุด เด็กบางคนให้ไม่เป็นรอแต่จะรับเพียงอย่างเดียว การกล่อมเกลาจิตใจเด็กเป็นรายบุคคลไม่เหมือนการขัดเกลาไม้ เพราะครูปฐมวัยต้องคำนึงถึงพื้นฐานของเด็กด้วย เมื่อเด็กเรียนรู้จากการให้แล้วการสอนสิ่งอื่นจึงเป็นเรื่องง่ายตามมา การจัดประสบการณ์สำหรับเด็กปฐมวัยจึงต้องเริ่มจากจิตใจของเด็กก่อนให้เด็กใช้สมองส่วนคิดให้มากกว่าสมองส่วนอยาก แม้ว่าการคิด (ที่ผู้ใหญ่บอกว่าเด็กฝึกยาก หรือบางคนยังทำไม่ได้) เป็นการเรียนรู้เชิงระบบต้องมีที่มาที่ไป การสร้างคำถามระดับสูงให้ฝึกฝนสม่ำเสมอจะทำให้เด็กพัฒนาความคิดละเอียดลออมากขึ้น เรียนรู้ที่จะเข้าใจผู้อื่น และที่สำคัญเข้าใจตนเองมากขึ้น
                 ดังนั้นในการพัฒนาเด็กปฐมวัยแม้จะยากแต่เรา(ครูปฐมวัย)ก็ไม่ละความพยายามตั้งหน้าตั้งตาทำ โดยหวังว่าเมื่อเด็กๆโตเป็นผู้ใหญ่จะได้ทำให้สังคมไทยก้าวไกลดังใจฝัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น