วันจันทร์ที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2554

การกระตุ้นพัฒนาการ


Early Stimulation
ศูนย์วิชาการ แฮปปี้โฮม
  
 
 
   
เด็กเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณค่ายิ่ง และเป็นอนาคตที่สำคัญของชาติ ในหลายประเทศล้วนมุ่งเน้นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งจะต้องเริ่มต้นจากเด็ก โดยเฉพาะในช่วงปฐมวัย คือ ตั้งแต่วัยแรกเกิด – 6 ปี จะต้องได้รับการเลี้ยงดูที่เหมาะสม ทั้งทางด้านร่างกาย สติปัญญา อารมณ์ จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณ ด้วยการตอบสนองความต้องการ ขั้นพื้นฐาน และส่งเสริมพัฒนาการในแต่ละวัย ซึ่งจะทำให้เด็กๆ เหล่านี้ เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพสืบไป
 
ความหมายของพัฒนาการ
พัฒนาการ คือ กระบวนการการเปลี่ยนแปลงลักษณะและพฤติกรรมที่มีทิศทาง และรูปแบบที่แน่นอนจากช่วงระยะเวลาหนึ่งไปสู่อีระยะหนึ่ง
วุฒิภาวะ คือ ความพร้อมที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ซึ่งเป็นการบรรลุถึงขั้นการเจริญเติบโตอย่างเต็มที่ของบุคคลในระยะใดระยะหนึ่ง และพร้อมที่จะทำกิจกรรมอย่างนั้น
“พัฒนาการเป็นผลรวมของการกระทำร่วมกันระหว่างวุฒิภาวะและการเรียนรู้”
พัฒนาการ หมายถึง กระบวนการเปลี่ยนแปลงด้านวุฒิภาวะของระบบต่างๆ และตัวบุคคล ทำให้เพิ่มความสามารถของระบบหรือบุคคล ให้ทำหน้าที่ต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถทำหน้าที่ที่สลับซับซ้อนยุ่งยากได้ ตลอดจนเพิ่มทักษะใหม่และความสามารถในการปรับตัวต่อภาวะใหม่ของบุคคลผู้นั้น ซึ่งการจะไปถึงจุดแห่งความพร้อมได้จะต้องผ่านกระบวนการเรียนรู้
ในการดูพัฒนาการเด็กต้องครอบคลุมถึงพัฒนาการต่างๆ ดังนี้
1) ด้านร่างกาย
2) ด้านอารมณ์และบุคลิกภาพ
3) ด้านสังคม
4) ด้านเชาวน์ปัญญา ภาษา และความคิด
 
การตรวจวัดพัฒนาการ
ในการกำหนดบรรทัดฐานว่า เด็กมีการพัฒนาอะไรและอย่างไรในแต่ละช่วงวัยนั้น นำมาจากผลการศึกษาโดยใช้เกณฑ์จากคนหมู่มาก โดยมีแบบวัดที่ได้ผ่านการศึกษาวิจัยมากมาย แต่ที่ได้รับความนิยม คือ แบบทดสอบเดนเวอร์ เนื่องจากว่าไม่จำเป็นต้องใช้ความเชี่ยวชาญในการแปลผลมาก สามารถทำได้โดยบุคลากรทางการแพทย์และพ่อแม่ผู้ปกครอง แต่ถึงกระนั้นก็สามารถแปลผลพัฒนาการในทุกๆ ด้านได้ ครบถ้วน
 
สาเหตุของพัฒนาการล่าช้า
เด็กที่มีพัฒนาการล่าช้ามีสาเหตุได้หลายอย่าง สาเหตุที่พบบ่อย ได้แก่
1) ภาวะสมองพิการ (cerebral palsy) หลังขาดออกซิเจนขณะคลอด หรือตามหลังอุบัติเหตุ หรือตามหลังการติดเชื้อในสมอง
2) โรคลมชักบางชนิด
3) ความผิดปกติของโครโมโซม และโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมบางอย่าง เช่น กลุ่มอาการดาวน์
4) การขาดฮอร์โมน เช่น ธัยรอยด์
5) ภาวะเจ็บป่วยเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด และภาวะขาดอาหารในเด็ก
6) ภาวะการติดเชื้อขณะมารดาตั้งครรภ์ เช่น หัด เยอรมัน เอดส์ เริม
7) ภาวะขาดอาหารขณะมารดาตั้งครรภ์
8) ภาวะขาดอาหารในช่วงที่สมองมีการเจริญเติบโต
9) ขาดการดูแลเอาใจใส่จากผู้เลี้ยงดู ถูกทอดทิ้ง ถูกทำร้ายหรือกระทำทารุณ
10) กลุ่มที่ไม่ทราบสาเหตุ
สาเหตุของปัญหาพัฒนาการล่าช้าบางอย่างจำเป็นต้องรักษาที่สาเหตุโดยตรง แต่บางอย่างถึงแม้จะทราบว่าเกิดจากอะไร แต่ไม่มีการรักษาที่เฉพาะเจาะจง ในขณะเดียวกันบางอย่างที่ยังไม่ทราบสาเหตุ ก็สามารถช่วยเหลือให้ดีขึ้นได้มาก
 
การเลี้ยงดูเด็กที่มีพัฒนาการล่าช้า
การเลี้ยงดูเด็กที่มีพัฒนาการล่าช้าไม่แตกต่างจากการเลี้ยงดูเด็กปกติมากนัก จะแตกต่างกันเพียงแต่เรื่องของโรคที่เด็กเป็นบางโรค เช่น โรคหัวใจ จำเป็นต้องดูแลในเรื่องของ การรักษาพยาบาล หรือการพาไปพบแพทย์ผู้รักษาตามนัด ข้อแนะนำในการเลี้ยงดูเด็ก ที่มีพัฒนาการล่าช้า ก็จะเหมือนกับเด็กทั่วไป กล่าวคือ
การให้ความรักและตอบสนองความต้องการของเด็ก
ในช่วงแรกของชีวิตเด็กควรได้รับการปกป้อง คุ้มครองดูแลเอาใจใส่ และการตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐานในการดำรงชีวิต คือ ได้รับอาหารเพื่อให้เติบโต และได้รับความรักซึ่งเป็นอาหารทางใจที่จำทำให้เด็กได้เกิดความรู้สึกมั่นคง เชื่อมั่นต่อโลกภายนอก ต ลอดจนการปกป้องให้พันจากภัยอันตรายต่างๆที่อาจเกิดขึ้นกับเด็ก ทั้งนี้พ่อแม่ ควรสำนึกเสมอว่า เมื่อมีลูกก็จำเป็นต้องมีความรับผิดชอบใน บทบาทหน้าที่ของพ่อแม่ โดยควรจัดลำดับความสำคัญของงาน และจะต้องถือว่างานในฐานะพ่อแม่ เป็นงานที่หนักและมีความสำคัญมาก อยู่ในลำดับต้นๆ ที่จะต้องแบ่งเวลาให้
การยอมรับความแตกต่างของเด็กแต่ละคน
พ่อแม่ต้องยอมรับว่าลูกแต่ละคนไม่เหมือนกัน โดยมีความแตกต่างในพื้นอารมณ์ บุคลิกภาพ ความแข็งแรงของร่างกาย เชาวน์ปัญญา ลูกอาจจะเป็นเด็กหน้าตาไม่ดี ไม่ค่อยแข็งแรง ไม่คล่องแคล่วว่องไว หรือลูกอาจเป็นเด็กใจร้อน เจ้าอารมณ์ การยอมรับในตัวเด็กจะนำมาสู่การดูแลที่เหมาะสม ต้องเข้าใจว่าไม่มีสูตรสำเร็จของการเลี้ยงดูเด็ก แต่มีหลักการกว้างๆ ทั้งนี้ขึ้นกับวิธีการที่พ่อแม่จะนำไปปรับใช้กับเด็กแต่ละคนให้ได้ผล เนื่องจากเด็กแต่ละคนมีลักษณะเฉพาะตัวของเขานั่นเอง
หาความรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงดูเด็กและพัฒนาการตามวัยที่ควรเป็น
ความรู้ที่ถูกต้องเป็นพื้นฐานของการปฏิบัติ ดังนั้นพ่อแม่ควรพยายามหาความรู้ในการเลี้ยงดูโดยวิธีการต่างๆ เช่น การอ่านหนังสือที่กล่าวถึงวิธีการในการเตรียมตัว เป็น พ่อแม่ และการถามจากผู้รู้เพื่อขอคำแนะนำ ตัวอย่างเช่น วิธีการอุ้มเด็กอ่อน ความรู้ว่าเด็กในวัยต่างๆ ควรทำอะไรได้บ้าง เช่น ลูกอายุ 2 เดือน ควรจ้องหน้าแม่และยิ้มตอบได้ แต่ถ้าลูกของเรายังไม่สามารถทำได้ก็ควรไป ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ เพื่อขอคำแนะนำ เป็นต้น ทั้งนี้ควรมีการตื่นตัวในเรื่องเหล่านี้ ไม่ควรปล่อยผ่านไปในสิ่งที่ยังข้องใจ
การอบรมสั่งสอนและการฝึกวินัยให้กับเด็ก
การฝึกวินัยและการอบรมสั่งสอน มีความจำเป็นอย่างยิ่งควบคู่ไปกับการเลี้ยงดูทั่วๆไป แม้ว่าเด็กจะมีพัฒนาการล่าช้า ก็จำเป็นต้องมีการอบรม สั่งสอนเลี้ยงดูในเรื่องกฎระเบียบต่างๆ ตั้งแต่เล็ก เช่น ตอนเป็นทารก ก็ควรจะต้องรู้จักรอแม่ที่จะให้นม ไม่ใช่ว่าหิวก็จะได้กินทันที ต่อมาก็ต้องหัดให้กินนอนเป็นเวลา พอโตขึ้นก็ต้องรู้จักช่วยเหลือตนเอง เช่น การตักอาหารเข้าปาก การใส่เสื้อผ้า แต่งตัว ล้างมือที่เปรอะเปื้อน การบอกความต้องการ การอบรมสั่งสอนต้องยึดกฎเกณฑ์ที่สังคมยอมรับเป็นหลัก และถือหลักว่าเด็กมีอายุหรือวุฒิภาวะเหมาะสมในการฝึกหัดให้เด็กทำพฤติกรรมหนึ่งได้แล้ว โดยมีพื้นฐานอยู่ที่การฝึกหัดอย่างสม่ำเสมอให้เป็นนิสัย และให้แรงเสริมเมื่อทำพฤติกรรมที่เหมาะสม หรือลงโทษเมื่อทำพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม

หลักการในการกระตุ้นพัฒนาการเด็ก
1) ควรมีการกระตุ้นพัฒนาการเด็กในทุกๆด้านที่มีปัญหา ไม่ว่าจะเป็นด้านการเคลื่อนไหว การใช้มือหยิบจับ การใช้ภาษา และการช่วยเหลือตนเอง รวมถึงการ กระตุ้นปลายประสาทสัมผัสในการรับรู ้ การมองเห็น การได้ยิน การสัมผัส ทางกาย การรับรู้กลิ่น การรับรู้รส
2) การฝึกควรเลียนแบบบรรยากาศสิ่งแวดล้อมที่บ้าน แล้วนำสิ่งเหล่านั้นมาสอนเป็นทักษะต่างๆที่ให้เด็กเรียนรู้ เพื่อให้พ่อแม่ และตัวเด็กเองนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้
3) พยายามให้เด็กช่วยตัวเองให้มากที่สุด โดยในระยะแรกควรมีการช่วยเหลือก่อน ต่อไปควรเปิดโอกาสให้เด็กทำด้วยตนเอง เช่น ในเด็กเล็กควรจับเด็กให้อยู่ในท่าทางต่างๆ เปลี่ยนกันไปไม่ให้อยู่ในท่าเดียวซ้ำๆ เพื่อช่วยให้เด็กมีประสบการณ์การเรียนรู้ในท่าทางต่างๆเหล่านั้น ซึ่งเป็นผลให้เด็กมีการเรียนรู้ในการทรงตัวดีขึ้น
4) ควรมีการทำพฤติกรรมตัวอย่าง เพื่อให้เด็กเลียนแบบ และทำซ้ำๆกันหลายๆครั้ง เพื่อให้เกิดการเรียนรู้
5) ให้ความสำคัญกับการฝึกเด็ก ควรคิดเสมอว่า การสอนหรือการกระตุ้นพัฒนาการ สามารถทำได้โดยไม่เลือกเวลา หรือสถานที่
6) ให้แรงเสริม ให้กำลังใจ และคำชมเชย ทั้งคำพูดและการกระทำ เมื่อเด็กสามารถทำพฤติกรรมที่สอนหรือฝึกหัดได้ เช่น การพูดชม หรือท่าทีพอใจกอดรัดเด็ก
7) การจัดสภาพสิ่งแวดล้อมทั่วไปในบ้าน เป็นสิ่งที่ควรทำเพื่อการกระตุ้นประสาทสัมผัส เช่น การติดภาพสีสดใส การให้เด็กมีโอกาสเล่นของเล่นที่เหมาะสมตามวัย
ความสำเร็จในการช่วยเหลือเด็กนั้น อยู่ที่ความร่วมมือกันทั้งจากผู้ปกครอง และบุคลากรทางการแพทย์หลายฝ่าย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น